ความรู้ทั่วไป

 สมัยสุโขทัย
             การศึกษาได้จัดกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี(พ.ศ. 1781-1921) แต่เป็นการศึกษาแผนโบราณ    ซึ่งเจริญรอยสืบต่อมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว     ในสมัยกรุงสุโขทัยรัฐและวัด รวมกันเป็นศูนย์กลางแห่งประชาคม กิจกรรมต่าง ๆ    ของรัฐและวัดย่อมเป็นการสอนประชาคมไปในตัววิชาที่เรียนคือภาษาบาลี   ภาษาไทยและวิชาสามัญขั้นต้น สำนักเรียนมี  2 แห่ง แห่งหนึ่งคือวัดเป็นสำนักเรียนของบรรดาบุตรหลานขุนนางและราษฎรทั่วไป   มีพระที่เชี่ยวชาญภาษาบาลีเป็นครูผู้สอน เพราะสมัยนั้นเรียนภาษาบาลีกันเป็นพื้น     ใครรู้พระธรรมวินัยแตกฉานก็นับว่าเป็นปราชญ์   อีกแห่งหนึ่งคือ   สำนักราชบัณฑิต   ซึ่งสอนแต่เฉพาะเจ้านายและ บุตรหลานข้าราชการเท่านั้น   ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า       พระเจ้าลิไทแห่งกรุงสุโขทัยเมื่อทรงพระเยาว์ ได้เคยศึกษาเล่าเรียนในสำนักราชบัณฑิตเหล่านี้จนมีความรู้วิชาหนังสือแตกฉานถึง แก่ได้รับยกย่องว่าเป็นนักปราชญ์


              
สมัยอยุธยา
              ในสมัยกรุงศรีอยุธยา(พ.ศ.1893 -2310) การศึกษาได้เปลี่ยนรูปต่างไปจากการศึกษาสมัยกรุงสุโขทัย       ลักษณะการศึกษาสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นไปในทางติดต่อกับประชาคมเท่านั้น     เพราะการศึกษาทั่วไปก็ตกอยู่แก่วัด ราษฎรนิยม พาลูกหลานไปฝากพระ เพื่อเล่าเรียนหนังสือ พระยินดีรับไว้เพราะท่านต้องมีศิษย์ไว้สำห
รับ
ปรนนิบัติ       ศิษย์ได้รับการอบรมในทางศาสนา    ได้เล่าเรียนอ่านเขียน หนังสือไทยและบาลีตามสมควร
              
เพื่อเป็นการตระเตรียมสำหรับเวลาข้างหน้า เมื่อเติบโตขึ้นจะได้สะดวกในการอุปสมบท การให้ผู้ชายที่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์อุปสมบทเป็นพระภิกษุนั้น เป็นประเพณีที่มีมานานแล้ว  เข้าใจว่าจะสืบเนื่องมาจากแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ เพราะปรากฏว่า   พระองค์ทรงกวดขันการศึกษาทางพระศาสนามาก  บุตรหลาน ข้าราชการคนใดที่จะถวายตัวทำราชการ    ถ้ายังไม่ได้อุปสมบท   ก็ไม่ทรงแต่งตั้งให้เป็น ข้าราชการ  ประเพณีนี้ยังผลให้วัดทุกแห่งเป็นโรงเรียนและพระภิกษุทุกรูป เป็นครูทำหน้าที่อบรมสั่งสอนศิษย์ของตน ตามความสามารถที่จะจัดได้ แต่คำว่า โรงเรียนในเวลานั้น   มีลักษณะต่างกับโรงเรียนในเวลานี้กล่าวคือ ไม่มีอาคารปลูกขึ้นสำหรับใช้เป็นที่เรียนโดยเฉพาะ เป็นแต่ศิษย์ใคร ใครก็สอนอยู่ที่กุฎิของตนตามสะดวกและความพอใจพระภิกษุรูปหนึ่ง ๆ มีศิษย์ไม่กี่คนเพราะจะต้องบิณฑบาตร มาเลี้ยงดูศิษย์ด้วย ชาวยุโรปที่เข้ามาเมืองไทยในสมัยต่าง ๆ ได้เล่าเรื่องการศึกษาของไทยไว้ในหนังสือที่เขาแต่งขึ้น จะขอยกมาเป็นบางตอนดังนี้ เมอร์ซิเออร์ เดอะลาลูแบร์    ราชทูตผู้หนึ่งในคณะฑูตฝรั่งเศสครั้งที่ 2  ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีในแผ่นดิน   สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้กล่าวไว้ในหนังสือราชอาณาจักรสยามว่า       "พระสอนหนังสือให้แก่ เยาวชน   ดังที่ ข้าพเจ้าได้เล่าแล้ว    และท่านอธิบายคำสั่งสอนแก่ราษฎร์ ตามที่เขียนไว้ในหนังสือบาลี" 
      หนังสือราชอาณาจักรไทยหรือประเทศสยาม ของมองเซนเยอร์ ปัลเลอกัวซ์ สังฆราชแห่งมัลลอส    ในคณะสอนศาสนาโรมันคาทอลิกของฝรั่งเศส ประจำประเทศไทยซึ่งพิมพ์ออกจำหน่าย เมื่อ พ.ศ. 2397 กล่าวว่า   "ภายหลังหรือบางทีก่อนพิธีโกนจุก     บิดามารดาส่งบุตรของตนไปอยู่วัดเพื่อเรียนอ่านและเขียน ณ ที่นั่นเด็กเหล่านี้รับใช้พระ   พายเรือให้พระ และรับประทานอาหารซึ่งบิณฑบาตมาได้ ร่วมกับพระด้วยพระสอนอ่านหนังสือให้เพียงเล็กน้อยวันละครั้งหรือสองครั้งทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบแทนการศึกษาของเด็กหญิงมีการสอนให้ทำครัว ตำน้ำพริก ทำขนมมวนบุหรี่และจีบพลู”

pic/arrw02c.gif (313 bytes)
           ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชการศึกษาเจริญมาก   มีการสอนทั้งภาษาไทย  บาลี  สันสกฤต   ฝรั่งเศส   เขมร  พม่า   มอญ   และจีน    ปรากฏตามพงศาวดารว่า พระตรัสน้อย   โอรสองค์หนึ่งของพระเพทราชา  ได้ทรงศึกษาภาษาต่าง ๆ จนชำนาญทั้งภาษาบาลี  สันสกฤต  ฝรั่ง  เขมร ลาว ญวน พม่า รามัญ และจีน ทั้งยังทรงศึกษาวิชาโหราศาสตร์   และแพทยศาสตร์จากอาจารย์ต่าง ๆ เป็นอันมากเข้าใจว่าโดยเฉพาะ     วิชาภาษาไทย     คงจะได้วางมาตรฐานดีมาแต่ครั้งนั้น   เพราะปรากฏว่า     พระโหราธิบดี ได้แต่งแบบเรียนภาษาไทยชื่อ   จินดามณี ถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช    ซึ่งได้ใช้เป็นแบบเรียนสืบต่อมาเป็นเวลานานสำนักเรียนนอกจากวัดในบางรัชกาล    ยังมีราชสำนัก     สำนักราชบัณฑิตและโรงเรียนมิชชันนารีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช       การศึกษาในราชสำนักรุ่งโรจน์มาก   แม้กระทั่งนายประตูก็สามารถแต่งโคลงได้   สำนักราชบัณฑิตนั้นคงจะสอนวิชาต่าง ๆ กัน  ดังปรากฏตามพงศาวดารว่า พระตรัสน้อย     ได้ทรงเล่าเรียนอักขรสมัยและวิชาอื่น ๆ จากอาจารย์ต่าง ๆ เป็นอันมาก   พวกราชบัณฑิตที่เป็นอาจารย์สอนหนังสือนี้มีต่อมา   จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์       แม้ในต้นรัชกาลที่ 5 ก็ยังมีบัณฑิตอาจารย์บอกหนังสือ   พระเณรอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามและวัดอื่นๆจนเมื่อมีโรงเรียนของกระทรวงธรรมการ     และโรงเรียนพระปริยัติธรรมแพร่หลายแล้ว   สำนักราชบัณฑิตจึงได้หมดไป       สำหรับโรงเรียนมิชชันนารีนั้น  ในชั้นแรกชาวยุโรปที่เข้ามาค้าขาย มีชาวโปรตุเกส เป็นต้น    ได้รับอนุญาตให้สร้างโบสถ์เพื่อทำกิจทางศาสนา โบสถ์ฝรั่งในชั้นเดิมเช่น   ในแผ่นดินสมเด็จพระชัยราชานั้นเป็นโบสถ์เล็ก ๆ    สร้างขึ้นเพื่อทำกิจทางศาสนาและ   เพื่อสอนศาสนาเท่านั้นในระยะ นั้นไทยเป็นประเทศเดียวในแถบอาเชียตะวันออก     ที่ไม่รังเกียจศาสนาใดศาสนาหนึ่งเลย     พวกฝรั่งเห็นเป็นโอกาสที่จะเกลี้ยกล่อมคนไทยให้เข้ารีต    ได้มากกว่าที่อื่น     ดังนั้นบาทหลวงจึงได้เดินทางเข้ามามากขึ้น
            พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงให้ความอุปถัมภ์พวกบาทหลวง   ถึงแก่พระราชทานทรัพย์ให้สร้างโบสถ์ก็มี       ดังเช่น   สมเด็จพระนารายณ์มหาราชพระราชทานแก่บาทหลวงฝรั่งเศสเป็นต้นในรัชกาลนั้นมีโบสถ์ฝรั่งใหญ่ ๆ มากกว่าในรัชกาลก่อน ๆ  และ   เมื่อมีโบสถ์สำหรับทำกิจทางศาสนาแล้ว   ก็ตั้งโรงเรียนขึ้น เรียกว่าโรงเรียนสามเณร    โรงเรียนสามเณรตั้งขึ้น    เพื่อสั่งสอนชาวพื้นเมืองที่ประสงค์จะเข้ารีตแต่นอกจากสอนศาสนา     ก็ได้สอนหนังสือและวิชาอื่น ๆ    ด้วยปรากฏว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงส่งมหาดเล็ก   รุ่นเด็กเป็นจำนวนมากมาเรียนในโรงเรียนของพวกบาทหลวง   จึงนับว่าโรงเรียนสามเณร        เป็นสำนักเรียนวิชาสามัญอีกแห่งหนึ่ง

            pic/Hip2.gif (12854 bytes)

             
สมัยรัตนโกสินทร์
             
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น  การศึกษายังคงดำเนินไป เช่นเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยากล่าวคือ    มีวัดได้ให้ความรู้แก่พลเมืองให้เหมาะ แก่ความต้องการของประชาคม   วัดและบ้านรับภาระในการอบรมสั่งสอนเด็ก ส่วนรัฐหรือราชสำนักควบคุมตลอดจนให้ความอุปถัมภ์ตามสมควร    หนังสือราชอาณาจักรและชาวสยามของเซอร์จอห์นบาวริง   ผู้สำเร็จราชการฮ่องกง     ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย พระบรมราชินีนาถแห่งประเทศบริเตนใหญ่ ทรงแต่งตั้งเป็นอัครราชทูตมาเจริญทางพระราชพระราชไมตรีเมื่อ  พ.ศ.2398   ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกล่าวถึงการศึกษาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ไว้สองแห่ง
                            แห่งหนึ่งมีความว่า
                            “การศึกษาตั้งต้นแต่การโกนจุก แล้วเด็กผู้ชายถูกส่งไปอยู่วัดเรียนอ่าน เขียน และคำสอนศาสนากับพระ”
                             อีกแห่งหนึ่งมีความว่า
                            “พระได้รับมอบหมายให้จัดการศึกษา และโรงเรียนอยู่ติดกับวัดโดยมาก ย่อมเป็นของธรรมดาอยู่เองที่การสอน ให้รู้คำสั่งสอนและประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา   เป็นส่วนสำคัญมากของระบบการศึกษา   พลเมืองชายส่วนหนึ่งอ่านและเขียนหนังสือออก แต่วิธีที่จะแสวงหาความรู้ชั้นสูง สาขาใดสาขาหนึ่งมีอยู่น้อยถึงกระนั้นก็ดี     โดยเฉพาะในบรรดาขุนนางยังใฝ่ใจเรียนวิชาเครื่องจักรกลไก รู้จักใช้เครื่องมือเดินเรือและรู้วิชาปรัชญากันมาก   ค่าเล่าเรียนตามปรกติในโรงเรียนสามัญที่กรุงเทพฯ เก็บจากเด็กชายคนละ 8 ดอลลาร์หรือ 35 ชิลลิงต่อปีและอีก 15 ดอลลาร์ เป็นค่าที่อยู่ เสื้อผ้า เครื่องเขียนและอื่น ๆ ชาวจีนที่รวยบางคนจ้างครูสอนส่วนตัวเดือนละ 8 ดอลลาร์ ห้องเรียนห้องหนึ่งอาจเช่าได้เดือนละ   2 ดอลลาร์ครึ่งหรือต่ำกว่านั้น   การศึกษาสตรีถูกทอดทิ้ง ในประเทศสยาม มีสตรีอยู่น้อยคนที่อ่านหรือเขียนได้ อย่างไรก็ดี   ในการแสดงละครภายในพระราชวัง สตรีคนหนึ่งบอกบทและพลิกหน้าบทละครได้อย่างแคล่วคล่องมาก”

pic/Hip1.gif (9974 bytes)
pic/arrw02c.gif (313 bytes)
              แม้ไทยจะเคยติดต่อกับฝรั่งมาเป็นเวลานาน   นับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่การศึกษาก็ยังคงเป็นแผนโบราณอยู่ ตามเดิม การถ่ายทอดวิชาความรู้ศิลปวิทยาการต่าง ๆ ยังน้อยมาก      เข้าใจว่ามีเพียง วิธีหล่อปืนไฟ การใช้ปืนไฟในการสงคราม วิธีทำป้อมค่ายสู้กำลังปืนไฟ ตำรายาบางอย่าง  เช่น วิธีทำขี้ผึ้ง และตำราทำอาหาร เช่น ฝอยทอง   เป็นต้นเท่านั้น     ในระยะปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก   การติดต่อกับฝรั่งขาดไประยะหนึ่ง   ต่อมาใน พ.ศ. 2361   รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงได้มีการติดต่อกันอีกครั้งหนึ่ง    กล่าวคือ    ไทยอนุญาตให้โปรตุเกสเข้ามาตั้งสถานกงสุลในกรุงเทพฯ แต่ไม่มี อำนาจพิเศษอย่างไร ใน     พ.ศ.2365   บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษอยากจะขยายการค้าขายมาถึงกรุงเทพฯ   มาควิสเฮสติงส์ผู้สำเร็จราชการอินเดีย   แต่งตั้งให้ ให้นายจอห์นครอเฟิด   เป็นทูตมาเจรจา      เพื่อทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี การสนทนาโต้ตอบเป็นไปอย่างลำบากมาก      เพราะพูดกันโดยตรงไม่ได้ ต้องมีล่าม คือ ครอเฟิด   พูดภาษาอังกฤษกับล่ามของเขา ล่ามนั้นแปลเป็นภาษามลายูให้ล่ามฝ่ายไทยฟัง   ล่ามฝ่ายไทยจึงแปลเป็นภาษาไทยเรียนเสนาบดี    เมื่อเสนาบดีตอบว่า กระไรก็ต้องแปลกลับไปทำนองเดียวกัน   ปรากฏว่าในครั้งนั้นไม่ได้ทำหนังสือสัญญาต่อกัน ในรัชกาลที่ 3 พ.ศ.2369 รัฐบาลอินเดียส่งร้อยเอกเฮนรี เบอร์นีย์มาทำหนังสือ สัญญาทางพระราชไมตรีกับไทย    ขอความสะดวกในการค้าขาย   แต่หาได้เรียกร้องอำนาจศาลกงสุล    ไม่ตรงกัน       กลับบัญญัติไว้ว่า    ต้องปฎิบัติตามกฎหมายของ บ้านเมืองหนังสือสัญญาต้องทำถึง    4  ภาษา  คือ ภาษาไทย   ภาษาอังกฤษ ภาษามลายู และภาษาโปรตุเกส  ใน พ. ศ. 2371 มีเหตุการณ์อย่างหนึ่งเกี่ยวกับการศึกษา คือพวกมิชชั่นนารีอเมริกัน      คณะเพรสไบติเรียนได้เข้ามาสอนศาสนาให้แก่ชาวจีน ส่วนคนไทยนั้นเพียงแต่ช่วยรักษาพยาบาลให้ อย่างเดียว     เพราะพวกมิชชันนารีไม่ รู้จักภาษาไทย และไม่ได้เตรียมหนังสือสอนศาสนาเข้ามาด้วย     โดยเหตุที่พวกนี้มาช่วยรักษาโรคด้วย     ทำให้คนไทยสำคัญว่าพวกมิชชันนารีอเมริกันเป็นแพทย์     จึงเรียกว่า หมอ   ซึ่งบางคนก็เป็นแพทย์จริง ๆ     แต่บางคนได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต   วิชาศาสนศาสตร์   ครั้นเมื่ออยู่เมืองไทยนานเข้า          พวกมิชชันนารีอเมริกันเรียนรู้ ภาษาไทยจึงขยายการสอนศาสนามาถึงคนไทย       โดยเขียนคำสอนเป็นภาษาไทยแล้วส่งไปพิมพ์ที่สิงคโปร์
               ในรัชกาลพระบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ปรากฏว่า ได้ทรงสร้างโรงชนิดหนึ่ง เรียกว่า โรงทาน   โรงทานนี้เป็นสถานที่สำหรับให้การศึกษาด้วย จะเห็น ได่จากคำประกาศเรื่องโรงทานในรัชกาลพระบาลสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า“โรงทานนี้        พระบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย     ได้ทรงสร้างขึ้นไว้ให้มีเจ้าพนักงานจัดอาหารและสำรับคาวหวานเลี้ยงพระสงฆ์สามเณร   และข้าราชการที่ มานอนประจำซองในพระบรมมหาราชวัง    กับทั้งบริจาคพระราชทรัพย์แจกคนชราพิการ     และมีพระธรรมเทศนาและสอนหนังสือวิชาการต่าง ๆ    โดยพระบรมราชประสงค์จะให้เป็นหิตานุหิต     ประโยชน์แก่ชนทั้งหลายทั้งปวงในอิธโลกและปรโลกนั้นด้วย”
                 ดังจะเห็นได้ว่าถึงแม้ในสมัยนั้น จะได้มีโรงเรียนขึ้นแล้วก็ดี แต่หาได้มีจุดประสงค์ไปในทำนองที่จะแยกโรงเรียนออกจากวัดไม่ ทางด้านสามัญศึกษาก็มีวัดเป็น ที่เรียนและมีพระเป็นครู ยังไม่มีสถานที่ซึ่งจัดไว้สำหรับทำการสอนวิชาโดยเฉพาะส่วนการเรียนก็แล้วแต่สมัคร ไม่มีการบังคับ มีการสั่งสอนทางวิชาหนังสือมากกว่าอย่างอื่น
บางทีก็มีการเรียนวิชาเลขเบื้องต้นตามแผนเก่าด้วย

                 การติดต่อกับฝรั่งในระยะหลัง ๆ  นี้   ทำให้คนไทยสำนึกได้ว่า   การเรียนรู้ภาษาของเขาตลอดจนวิชาความรู้ใหม่ ๆ  เป็นสิ่งจำเป็น   เพราะพวกนี้กำลังแผ่อำนาจ มาทางอาเชียตะวันออกมากขึ้นทุกที    ผู้ที่พยายามศึกษาจนมีความรู้   สามารถใช้การได้เป็นอย่างดีก็คือ       พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงวงศาธิราชสนิท และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์      ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในสมัยต้นรัชกาลที่ 5  ใน พ. ศ. 2398   ไทยได้ทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกับอังกฤษ และต่อมาก็ทำกับประเทศอื่น ๆ อีกยังผลให้การค้าขายขยายตัวออกไปเป็นอันมาก      ดังปรากฏจากจดหมายของหมอบรัดเลย์ตอนหนึ่งว่า
          “วันที่ 28 ตุลาคม 2398   เรือกำปั่นใบของอเมริกันชื่อลักเนาเข้ามาถึง เรือพ่อค้าอเมริกันไม่ได้มีเข้ามาถึง 17 ปี วันที่ 1 มกราคม 2399    มีเรือกำปั่นพ่อค้า ทอดอยู่ในแม่น้ำถึง 60   ลำเพราะเหตุที่ได้ทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศ การค้าขายเจริญอย่างรวดเร็วไม่เคยมีเหมือนเช่นนี้มาก่อน”

pic/Hip4.gif (30078 bytes)
            อย่างไรก็ การเรียนวิชาความรู้แบบฝรั่งเชื่องช้ามาก   แม้ว่า รัฐบาลมีกิจเกี่ยวข้องกับฝรั่งอยู่เสมอ   และมีฝรั่งเข้ามาค้าขายอยู่ในกรุงเทพฯแล้วก็ตามคนไทยที่เรียนรู้ภาษา ฝรั่งก็ยังมีน้อยมาก    เห็นจะเป็นเพราะผู้ที่สอนภาษาต่างประเทศมีแต่พวกมิชชันนารี ซึ่งสอนศาสนาบรรดาเจ้านายและ ข้าราชการจึงไม่อยากส่งบุตรหลานไปเรียน เพราะเกรงว่า พวกมิชชันนารีจะสอนให้เปลี่ยนศาสนา พระเจ้าลูกเธอของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ประสูติ เมื่อก่อนทรงผนวชก็มีพระชนมายุพ้นวัยเรียนเสียแล้วพระเจ้าลูกเธอที่ประสูติ   เมื่อเสวยราชย์แล้วก็ยังทรงพระเยาว์อยู่   ต้องรอมาจน พ. ศ. 2405   เมื่อสมเด็จ พระเจ้าลูกยาเธอ มีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้น    ทรงพระเจริญวัยพอที่จะเล่าเรียนได้ จึงได้โปรดให้จ้างนางแอนนา   เอช. เลียวโนเวนส์   เข้ามาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ แต่สอนอยู่ได้ไม่กี่ปี นางเลียวโนเวนส์ก็กลับไปเสีย    สมเด็จพระเจ้าลูกเธอที่ศึกษาภาษาอังกฤษในครั้งนั้น    และได้ศึกษาต่อมาจนทรงรอบรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี ก็มี   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่พระองค์เดียว    การศึกษาแผนโบราณหนักทางวิชาอักษรศาสตร์      เป็นการศึกษาที่อนุโลมตามแบบแผนและประเพณีไม่มีการค้นคว้าทางธรรมชาติหรือวิทยาศาสตร์     ส่วนวิชาชีพ เช่น วิชาช่างฝีมือต่าง ๆ   มีช่างถม ช่างทอง  ช่างแกะ ช่างปั้น วิชาแพทย์แผนโบราณ และวิชาอาชีพอื่น ๆ นั้นเรียนกันในวงศ์สกุลและตามท้องถิ่น   เป็นการศึกษาแบบสืบตระกูลเป็นมรดกตกทอดกันมา ในกรุงเทพฯ มีท้องถิ่นสำหรับฝึกและประกอบอาชีพ   ซึ่งยังมีชื่อติดอยู่จนทุกวันนี้ เช่น ถนนตีทอง บ้านพานถม  บ้านบาตร  บ้านดอกไม้ บ้านปูน บ้านช่างหล่อ ฯลฯ   ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ได้โปรดให้รวมช่างประเภทต่าง ๆ เหล่านี้    จัดเป็นหมู่ เป็นกรม เรียกว่า กรมช่างสิบหมู่             ดังปรากฏในหนังสือพระราชดำรัสในพระบาลสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดินว่า
                                   “ส่วนซึ่งแบ่งปันฝ่ายทหารแต่ทำการฝ่ายพลเรือนนั้น คือกรมช่างสิบหมู่ ซึ่งแบ่งไว้ในฝ่ายทหารนั้นก็คงจะเป็นด้วยช่างเกิดขึ้นในหมู่ทหารเหมือนทหาร อินเยอเนีย   แต่ภายหลังมาเมื่อทำการต่าง ๆ มากขึ้น จนถึงเป็นการละเอียด เช่น เขียนปั้นแกะสลัก   ก็เลยติดอยู่ในฝ่ายทหาร แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องอันใดในราชการทหารไม่ได้ขึ้น
กรมพระกลาโหมมีแต่กองต่างหาก   แม่กองนั้นมักจะเป็นเจ้านายโดยมาก   เมื่อเกิดช่างอื่น ๆ   ขึ้นอีกก็คงอยู่ในกรมเดิมฝ่ายพลเรือนบ้างทหารบ้าง ไม่เฉพาะว่ากรมช่างจะต้อง
เป็นฝ่ายทหาร เช่นช่างประดับกระจกขึ้นกรมวังช่างมหาดเล็กคงอยู่ในมหาดเล็กเป็นต้น” 

                  สำหรับการศึกษาของพวกสตรีนั้นเป็นการเรียนในบ้าน ส่วนมากเรียนแต่การเย็บปักถักร้อยการครัวและกิจการบ้านเรือน   การเรียนหนังสือนั้น ถ้าใจรักก็ได้เรียนบ้างในบ้าน    แต่ไม่สู้นิยมให้เรียนกันนัก   ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มักส่งเด็กหญิงเข้าไปอยู่ตามตำหนักเจ้านายในพระบรมมหาราชวัง     เพื่อจะได้มีโอกาสเปิดหูเปิดตา     ได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีและวิชาความรู้ต่าง ๆ         ตลอดจนกิริยามารยาทและการครองตนประเพณีนี้ได้ดำเนินมาจนตลอดรัชกาลที่ 5

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น